คงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลานี้ RoV หรือ Arena of Valor ถือเป็นเกมอีสปอร์ตที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประเทศไทยแบบไม่มีใครเทียบ แต่ที่สิ่งที่น่าสนใจคือ เพราะเหตุใดเกมที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามเช่นนี้จึงเต็มไปด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบในหมู่ผู้เล่นและผู้ชมอีสปอร์ตไทย แวดวง eSports เลยหยิบยกเหตุผลหลักทั้ง 10 ข้อมาอธิบายให้ฟังกันว่า “ทำไมหลายคนถึงเกลียด RoV”
1.สังคมเกมที่หลากหลาย (เกินไป)
ด้วยความที่ RoV เป็นเกมมือถือที่ดาวน์โหลดฟรี และเล่นง่าย ไม่ต้องมีอุปกรณ์แพงๆ ก็หาความบันเทิงได้ ทำให้กลุ่มผู้เล่นเกมนี้ค่อนข้างหลากหลาย สำหรับผู้พัฒนาและผู้ให้บริการอาจมองว่านี่เป็นเรื่องดี แต่ด้วยกลุ่มผู้เล่นที่กว้างขวางกว่าเกมทั่วไป ทำให้ผู้เล่นมีโอกาสได้อยู่ร่วมทีมกับผู้เล่นหลากหลายประเภททั้งผู้เล่นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น สายจีบสาวจีบหนุ่ม สายป่วน สาย Toxic ตลอดจนเด็กเล็กๆ ที่พูดคุยสื่อสารไม่รู้เรื่อง สำหรับคนที่มองหาเกม MOBA (Multi-player Online Battle Arena) แนวมาเล่นอย่างจริงจัง RoV อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเท่าไร เว้นแต่คุณจะขึ้นไปอยู่ใน Ranking ที่สูงเสียก่อน
2.สร้างความเข้าใจผิด
สาเหตุของเหตุผลประการที่ 2 มีจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกับข้อแรก คือ เกม RoV มีความนิยมจนเกินไป ผู้เล่นที่เพิ่งมาจับเกมนี้เป็นเกมแรกเลยเข้าใจผิดว่า เกมอื่นลอกเลียนระบบการเล่นและตัวละครมาจาก RoV กลับกัน ในสังคมเกมเองก็มีผู้เล่นบางกลุ่มที่จ้องจะล้อเลียน RoV โดยใช้คำพูดที่ว่า “เลียนแบบ RoV มาครับ” หรือ “RoV คือต้นแบบ MOBA” ทำให้คนที่ไม่รู้จริงๆ เกิดความเข้าใจผิดได้อยู่ดี

3.เป็นที่นิยมเกินไป
เป็นเหตุผลที่ไม่ใช่ความผิดของเกม (อีกแล้ว) แต่ด้วยกระแสความฮิตติดลมบนหลายคนเลยได้มีโอกาสเห็นเกมนี้ไปอยู่แทบจะทุกสื่อในประเทศไทย ทั้งในสื่อกระแสหลัก รายการทีวี นักร้อง ดารา และคนดังจากสายต่างๆ ล้วนพูดถึงแต่เกมนี้ (แม้บางกรณีอาจมีการจ่ายเงินเพื่อโปรโมตผ่านสื่อและ Influencers ก็ตาม) ด้วยความที่กระแสมันล้นจนเกินพอดีคนที่ไม่ชอบเกมนี้อยู่แล้วยิ่งเกิดความหมั่นไส้มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว

4.คอมมูนิตี้ (ค่อนข้าง) แย่
อย่างที่บอกกล่าวกันมาก่อนหน้าว่า เกมนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในด้านความนิยมในหมู่ผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้กลุ่มสังคมเกมในโลกโซเชียล หรือที่หลายคนเรียกว่า คอมมูนิตี้ของเกม จึงมีขนาดมหึมาแซงหน้าเกมอีสปอร์ตรุ่นพี่เกมอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น ในทางตรงข้าม เมื่อสังคมอุดมไปด้วยกลุ่มคนร้อยพ่อพันแม่ความขัดแย้งต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ตามมาเป็นเรื่องปกติ แต่ถึงกระนั้นด้วยความที่สังคม RoV ประกอบไปด้วยมวลมหาประชาชนจำนวนมหาศาลเหตุการณ์ดราม่าต่างๆ จึงลุกลามอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น (โดยเฉพาะในสังคม RoV ที่มีอายุสมาชิกกลุ่มต่ำกว่าเกมในประเภทเดียวกัน)
5.สมดุลวายป่วง
แฟนเกมอีสปอร์ตหลายคนคงทราบดีว่าจุดเด่นของเกมแนว MOBA คือ ความสมดุลของฮีโร่ที่ไม่มีตัวที่โดดเด่นจนเกินไป แต่ทุกตัวสามารถหยิบขึ้นมาเล่นแก้เกมกันได้เสมอ (ในจุดนี้เองเกม Dota 2 ถือว่าทำได้ดีมาก ขณะที่ League of Legends และเกมกึ่ง MOBA อย่าง Overwatch ล้วนพยายามพัฒนาในด้านนี้อย่างไม่หยุดยั้ง) แต่ในขณะเดียวกันคำว่า “สมดุล” กลับไม่เคยปรากฏให้ผู้เล่น RoV ได้เห็นอย่างจริงจังแม้จะมีการอัพเดตหลายครั้งต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม ฮีโร่ที่ได้รับความนิยมยังไงก็ยัง OP อยู่เอย่างงั้น ส่วนฮีโร่ที่ไม่มีใครหยิบมาใช้แข่งก็ยังถูกมองข้ามเช่นเดิม ขณะที่ฮีโร่ใหม่มักจะมีรูปลักษณ์และ/ความเก่งกาจที่โดดเด่นมากขึ้นกว่าตัวเก่า ซึ่งเป็นปริศนาหนึ่งที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ ด้วยเหตุนี้ คนที่เกลียด RoV จึงสามารถหยิบยกเหตุผลด้านความสมดุลมาโจมตีเกมนี้ได้เสมอ
6.ไร้คู่แข่ง
หลายคนบอกถ้า Apple ไม่มี Microsoft เป็นคู่แข่งก็เป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะพัฒนามาอยู่ในจุดนี้ เช่นเดียวกับการแข่งขันของ Coke และ Pepsi ที่ทำให้โลกได้เห็นการเดินหมากทางการตลาดแบบใหม่อยู่เสมอ หรือแม้แต่การชิงความเป็นหนึ่งระหว่าง Dota 2 และ League of Legends ก็ล้วนแล้วแต่เป็นมหากาพย์ที่ทำให้แฟนอีสปอร์ตได้มีสิ่งตื่นตาตื่นใจให้เห็นอยู่เสมอ แต่ด้วยการผงาดง้ำครองความเป็นที่ 1 แบบผูกขาดตลาดเอาไว้คนเดียวของ RoV นับแต่นี้เราคงไม่เห็นการช่วงชิงบัลลังก์เกมมือถือในไทยไปจนกว่าเกมนี้จะหมดกระแสความนิยมไปเอง

7.ข้อจำกัดของสายฟรี
โดยทั่วไปแล้วรูปแบบของเกมอีสปอร์ตจะมีอยู่ 2 ประเภท 1.เปิดให้เล่นตัวละครทั้งหมดได้ฟรี แต่มีการเปิดขายสกินหรือไอเทมตกแต่งตัวละคร 2.ต้องปลดล็อคตัวละคร แต่มีทางเลือกให้ผู้เล่นสามารถหาเงินในเกมมาใช้ซื้อตัวละครได้โดยไม่มีข้อจำกัด แต่ RoV กลับแตกต่างออกไป เนื่องจากเกมมีระบบเพดานจำกัดการหาเงินในเกมของผู้เล่น ทำให้ผู้เล่นสายฟรีมีความยากลำบากในการสรรหาเงินมาใช้สอยซื้อหาฮีโร่และรูนมาไว้ใช้งาน (ซึ่งสร้างข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างผู้เล่นสายเปย์และสายฟรีอยู่เหมือนกัน) แม้หลังๆ เกมจะอัพเดตระบบเพดานเงินจาก “จำกัดรายวัน” เป็น “รายสัปดาห์” (เพื่อให้ผู้เล่นที่ไม่มีเวลาว่างได้เก็บเงินยาวๆ ในเวลาว่าง) ก็ยังไม่ช่วยแก้ปัญหานี้เท่าไร
8.สกินแพงกว่าต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้เคยมีดราม่าเรื่องราคาตัวละครในเกม RoV มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้เล่นบางกลุ่มได้สืบเสาะแสวงหาราคาตัวละคร RoV ในต่างประเทศมาเปรียบเทียบกับราคาตัวละครในไทย ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ราคาตัวละครในต่างประเทศจะถูกกว่าตัวละครที่วางจำหน่ายในเกมเวอร์ชั่นไทย เช่น Raz ไทยสนนราคาอยู่ที่ 590 คูปอง (หรือประมาณ 500 กว่าบาท) ในขณะที่ตัวละครเดียวกันในไต้หวันจะขายอยู่ที่ 490 คูปอง (ประมาณ 400 กว่าบาท) ถูกกว่ากันนิดๆ ทั้งๆ ที่ค่าครองชีพของไทยน้อยกว่าไต้หวันด้วยซ้ำ

9.ดังแค่ในไทย
เหตุผลคลาสสิคที่พรรคฝ่ายค้าน (เกม RoV) มักหยิบยกขึ้นมาง้างความดีความชอบของเกมนี้อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่เกมนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในไทยทั้งในแง่จำนวนผู้เล่น ผู้ชม เงินรางวัล และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง แต่ท้ายที่สุดความเป็นอีสปอร์ตระดับโลกจำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับจากสากล ซึ่ง Tencent ยักษ์ใหญ่เจ้าของลิขสิทธิ์เกมตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ดี จึงเดินหมากสร้างกระแสนิยมโมบ้ามือถือตัวนี้ในนานาประเทศ หนึ่งในนั้นคือ การแข่งชิงแชมป์โลก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีเงินรางวัลสูงถึง 16 ล้านบาท และมีทีมดังมากมายเข้าร่วม เช่น Team Liquid, Fnatic, SK Gaming, Team Vitality และ Alliance ฯลฯ

10.มีอคติกับค่ายเกม
เหตุผลข้อสุดท้ายมาจากภาพจำที่หลายคนมองว่าค่ายผู้ให้บริการเกม RoV มักมีรูปแบบการตลาดที่เน้นแสวงหาผลกำไรจนออกนอกหน้าเกินไปหน่อย (เห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นถึง Ring of Elysium เกม Battle Royale ร่วมค่ายตัวล่าสุดของผู้คนในเพจ แวดวง eSports ว่า ยังไงเกมนี้ต้องเป็นแนว Pay to Win หรือไม่ก็ต้องหาวิธีมาดูดตังค์ผู้เล่นได้แน่) แต่อย่าลืมว่า เม็ดเงินส่วนใหญ่ของค่ายเกมอาจถูกนำไปต่อยอดสู่การจัดแข่งอีสปอร์ตคุณภาพที่สร้างอาชีพให้นักกีฬาและทีมงานนับร้อยชีวิต เพียงแต่มันไม่กลับคืนสู่ผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนที่มีวัตถุประสงค์ให้คนที่แอนตี้ RoV เปลี่ยนทัศนคติหันมามองเกมนี้ดีขึ้นบ้าง ขณะเดียวกันก็อยากชี้ให้ทีมงานผู้พัฒนาเล็งเห็นถึงข้อบกพร่อง เพื่อพัฒนาเกมของตนให้ดีขึ้นไป ส่วนใครที่รักในเกมนี้ก็ไม่ต้องฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เพราะท้ายสุดมีเพียงคุณเท่านั้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่า ตัวเองจะเลือกเล่นเกมไหน เพราะอะไร หรือบางทีก็ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลเสียด้วยซ้ำ